วันธรรมชัย

วันแห่งชัยชนะ

27 สิงหาคม พ.ศ. 2512

ย้อนเวลากลับไป เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2512  นายไชยบูลย์  สุทธิผล ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ อุโบสถ วัดปากน้ำภาษีเจริญ ได้รับฉายาว่า ธัมมชโย  ซึ่งแปลว่า  ชัยชนะแห่งธรรม  โดยมีมโนปณิธานอันแน่วแน่ที่จะขออุทิศชีวิตนี้เพื่องานพระพุทธศาสนาด้วยการนำพาชาวโลกให้พบความสุขอันแท้จริงที่เกิดจากธรรมะภายในตัว ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า

มโนปณิธานของหลวงพ่อธัมมชโยณผาดำจังหวัดเชียงใหม่

“ทวยเทพผู้อยู่ ณ ผาดำเอย ขอจงเป็นพยานด้วยเถิด ข้าผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยแห่งพระอรหันต์ ขอประกาศให้ทราบว่า ข้าได้ปักธงรบ อหิงสา ปรโม ธัมโม ขึ้น ณ ที่นี้แล้วในดวงใจข้า เหนือขุนเขาอันเป็นสิริ ซึ่งเป็นที่สถิตแห่งจอมไทย ข้าขอประกาศให้ทราบว่า ข้าได้อุทิศชีวิตนี้พลีให้แก่พระศาสนา เพื่อจะบ่มบารมีให้แก่รอบ จะยกตนและสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากกองทุกข์ ตราบใด สัตว์โลกยังเข้านิพพานไม่หมด ข้าจะขออยู่เยี่ยงนี้ เพื่อย่ำธรรมเภรีโปรดสัตว์โลกต่อไป และจะเข้านิพพานเป็นคนสุดท้าย ขอสันติสุขจงมีแด่สรรพสัตว์เถิด”

หลวงพ่อธัมมชโย

ก่อนเข้าสู่เส้นทางธรรม

หลวงพ่อธัมมชโย มีนามเดิมว่า นายไชยบูลย์  สุทธิผล  ท่านเป็นคนชอบอ่านหนังสือทุกประเภท และมีความสนใจธรรมะมาตั้งแต่วัยเยาว์ จึงทำให้ท่านแสวงหาความรู้ด้านธรรมะมาโดยตลอด  

วันหนึ่งท่านได้พบหนังสือ ชื่อว่า “ธรรมกาย” ซึ่งเป็นธรรมเทศนาของพระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร)  วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “ถ้าจะเดินให้ถูกต้องร่องรอยของพระศาสนา ต้องปฏิบัติให้ได้ทั้งรู้ทั้งเห็น”  อีกทั้งในตอนท้ายเรื่องยังมีข้อความยืนยันว่า “วัดปากน้ำนี้เรียนได้ ทั้งรู้ทั้งเห็น”  ข้อความนี้ทำให้ท่านมีความปรารถนาอยากศึกษาธรรมะกับหลวงพ่อสดมากยิ่งขึ้น

วันหนึ่งท่านได้อ่านหนังสือ “วิปัสสนาบันเทิงสาร” ที่ลงเรื่องราวเกี่ยวกับคุณยายอาจารย์จันทร์  ขนนกยูง แม่ชีซึ่งเป็นหนึ่งในศิษย์เอกที่ได้รับการถ่ายทอดวิชชาธรรมกายจากหลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ  เมื่อรู้เช่นนี้ท่านจึงมีความตั้งใจที่จะไปตามหา และได้มาศึกษาธรรมะปฏิบัติกับคุณยายอาจารย์จันทร์ ณ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยมศึกษา
จากชีวิตเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ที่เห็นประโยชน์ของการฝึกสมาธิ และเห็นว่าสมาธิเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นเช่นเดียวกัน ท่านจึงหมั่นเรียนรู้ และฝึกการทำสมาธิอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ชวนเพื่อนในมหาวิทยาลัยมาร่วมนั่งสมาธิ จนเกิดเป็นเครือข่ายนักศึกษาที่รักในการปฏิบัติธรรม หลายคนชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จึงทำให้ท่านมั่นใจในเส้นทางนี้มากยิ่งขึ้น

มโนปณิธานอันยิ่งใหญ่

ด้วยความมุมานะในการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง  ทำให้ผลการปฏิบัติธรรมของท่านมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ความเชี่ยวชาญในธรรมปฏิบัติของท่านเป็นที่ยอมรับของผู้ที่เคยมาฝึกสมาธิกับคุณยายอาจารย์ จนกระทั่งท่านได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยแนะนำการปฏิบัติธรรมให้แก่ผู้ที่มาฝึกสมาธิร่วมกันเสมอๆ

ความสุขที่ท่านได้รับจากการปฏิบัติธรรมนี่เองเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านตระหนักถึงคุณค่าของการปฏิบัติธรรม และเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า  สมาธิเท่านั้น ที่จะช่วยให้ทุกคนพ้นทุกข์และพบความสุขอย่างแท้จริง  อีกทั้งความสุขจากธรรมะภายในยังเป็นคำตอบที่ท่านค้นหามาตลอดถึงเป้าหมายที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์และเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดสันติภาพบนโลกใบนี้ได้อย่างแท้จริง

วันธรรมชัยเริ่มสานมโนปณิธาน

ท่านเองมีความตั้งใจอยากบวชตั้งแต่ยังเรียนมหาวิทยาลัย เพราะท่านเชื่อว่าหนทางนี้สามารถช่วยให้ผู้คนพ้นจากความทุกข์และพบความสุขที่แท้จริง จนกระทั่งเมื่อท่านจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเมื่อปี พ.ศ.2512 ท่านจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่เดินตามแนวทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการสละชีวิตทางโลก ออกบวช ซึ่งตรงกับวันที่ 27 สิงหาคม 2512 เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ณ พระอุโบสถวัดปากน้ำฯ ภาษีเจริญ ได้ฉายาว่า “ธัมมชโย” แปลว่า “ผู้ชนะโดยธรรม”

ชีวิตใหม่ในเพศบรรพชิตของหลวงพ่อธัมมชโย  นอกจากท่านจะถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตรอันดีงามแล้ว ท่านยังได้เริ่มทำตามมโนปณิธานตามที่ตั้งใจเอาไว้ด้วยการมุ่งศึกษาธรรมะทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติ  พร้อมทั้งทำหน้าที่สอนธรรมะให้แก่สาธุชนที่มาปฏิบัติธรรม ณ บ้านธรรมประสิทธิ์   จนกระทั่งสถานที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับสาธุชนที่เพิ่มมากขึ้น  จึงมีความคิดที่จะสร้างสถานที่แห่งใหม่เพื่อให้เพียงพอที่จะรองรับสาธุชนที่มาปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก

ต่อมาได้รับการบริจาคที่ดินในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 196 ไร่ จากคุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี ที่มีความศรัทธาต่อคุณยายฯ และหลวงพ่อในสมัยนั้น  และได้ตั้งชื่อสถานที่แห่งนั้นว่า “ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม”  และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น  วัดพระธรรมกาย ที่พวกเราได้รู้จัก
ตั้งแต่วันแรกที่ท่านออกบวช หลวงพ่อก็มุ่งมั่นทำตามอุดมการณ์ของท่านอย่างแน่วแน่ นั่นคือ การนั่งสมาธิ เพื่อพัฒนาคุณธรรมในตัวให้บริสุทธ์ยิ่งขึ้น และชวนคนมาเรียนรู้สมาธิเพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบัน จนถึงประโยชน์สูงสุดคือเข้าสู่นิพพาน

จากหัวใจของผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ และความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ ท่านจึงทุ่มเทในการพร่ำสอนธรรมะปฏิบัติอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ด้วยความรักที่มีต่อทุกคนประดุจเป็นลูกของท่านเอง จึงทำให้ทุกคนสัมผัสถึงความเมตตาที่พ่อมีต่อลูก จึงทำให้ทุกคนเกิดแรงบันดาลใจ ในการทำความดีอย่างเต็มที่เช่นเดียวกับหลวงพ่อ ท่านจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจในการสร้างความดี สั่งสมบุญบารมีให้ถึงที่สุด

ดังนั้นในวันที่ 27 สิงหาคม ของทุกๆปี เพื่อเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวที ต่อพระคุณของพระพ่อที่ทุ่มเทชีวิตยกระดับจิตใจของลูกๆให้พบความสุขที่แท้จริง สาธุชนวัดพระธรรมกาย อีกทั้งศูนย์สาขาทั่วโลก จึงพร้อมใจกันจัดกิจกรรมสวดมนต์ นั่งสมาธิ แผ่เมตตา อธิษฐานจิต เพื่อพัฒนาจิตใจ เติมบุญให้ชีวิต และยังเป็นการปฏิบัติถวายเป็นพุทธบูชา

จากอดีตถึงปัจจุบันแห่งการสานฝันให้เป็นจริง

หลวงพ่อธัมมชโยได้เริ่มต้นทำตามมโนปณิธานที่ได้ตั้งใจไว้แต่แรกว่าจะนำธรรมะไปสู่ใจชาวโลก  ด้วยหลักการ “สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระแท้ สร้างคนให้เป็นคนดี”

สร้างวัดให้เป็นวัด

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชาในปีนั้น  วัดพระธรรมกายได้ถูกก่อสร้างขึ้นมาบนพื้นที่ 196 ไร่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่รองรับสาธุชนที่มาปฏิบัติธรรม  และเพื่อให้สถานที่นี้เป็นสถานที่ที่สบายตา  สบายใจ เหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรม  จึงได้มีการกำหนดกฎระเบียบ  รวมทั้งเรื่องการรักษาความสะอาดภายในวัด เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยดี ๆ แก่ผู้ที่เข้ามาปฏิบัติธรรมอีกด้วย

ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของหลวงพ่อ คุณยายฯ และเหล่าศิษยานุศิษย์พัฒนาผืนดินอันแห้งแล้งจนกลายมาเป็นผืนดินอันเขียวชอุ่มที่ให้ความร่มเย็น  และต่อมาได้ขยายพื้นที่เป็น 2,000 ไร่ มีสิ่งก่อสร้างที่ถาวรมั่นคง การบริหารงานและความเป็นอยู่ เป็นไปอย่างมีระบบระเบียบ เพื่อรองรับสาธุชนที่มาปฏิบัติธรรมมากขึ้นถึงหลักแสนคน จนถึงปัจจุบันนี้

สร้างพระให้เป็นพระแท้

หลวงพ่อธัมมชโยท่านได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อให้พุทธบริษัท 4 มีความตื่นตัว และมาร่วมแรงร่วมใจกันฟื้นฟูศีลธรรมให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง  โดยจัดให้มีการอบรมพระ ให้เป็นพระแท้ เพื่อเป็นต้นบุญต้นแบบที่ดีให้แก่เหล่าพุทธศาสนิกชน และสร้างศรัทธาให้เกิดแก่ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา 

สร้างพระภิกษุให้เป็นครูสอนศีลธรรมและสมาธิแก่คนทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างคนให้เป็นคนดี ตามมโนปณิธานที่ได้ตั้งใจไว้ได้สำเร็จ

สร้างคนให้เป็นคนดี

การจะสร้างคนให้เป็นคนดีได้นั้นจึงต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้น คือมีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องกฎแห่งกรรม  ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการจัดให้มีกิจกรรมเพื่อปลูกฝังศีลธรรมให้แก่เยาวชนและบุคคลทั่วไปผ่านโครงการต่าง ๆ หลายร้อยโครงการ

การปลูกกฝังคุณธรรมผ่านโครงการต่าง ๆ มากมายนั้น  หัวใจสำคัญที่แท้จริงของการสร้างคน คือ ต้องให้ทุกคนได้รับรู้ถึงความสุขจากภายในด้วยตนเอง และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ และมีวิธีการที่ถูกต้อง  

หากทุกคนสามารถปฏิบัติธรรมจนได้รับความสุขภายในแล้ว ความสุขนั้นย่อมแผ่ขยายออกไปสู่ผู้คนภายนอกให้ได้สัมผัส  เริ่มจากคนรอบตัวจนขยายสู่คนหลายล้านคนบนโลก 

การปฏิบัติธรรม จึงเป็นหัวใจสำคัญต่อการสร้างสันติสุขภายใน สู่สันติภาพภายนอกได้อย่างแท้จริง สมดังเจตนารมณ์ของหลวงพ่อธัมมชโยที่ต้องการให้สันติภาพโลกบังเกิดขึ้นจากสันติสุขภายใน(ความสุขภายในตัว)ของทุกคน World Peace Through Inner Peace

โอวาทหลวงพ่อธัมมชโย (28 ม.ค.2549)

“จะหยุดสงครามได้ ทุกคนในโลกจะต้องร่วมมือกันด้วยการหยุดใจเข้าไปให้ถึง ความสงบภายใน จนเกิดสันติสุข  แล้วสันติสุขนั้น ก็จะขยายมาสู่ภายนอก ทำให้เกิดสันติภาพภายนอก อย่างแท้จริง”