Category เสริมเทคนิค เพื่อเข้าถึงธรรม

สำรวมอินทรีย์ 

เรามีดวงตา เรามีอวัยวะทุกอย่างในร่างกาย ไว้สำหรับสร้างบารมี เมื่อใช้อะไรไปแล้ว ต้องเปลี่ยนกลับมาเป็นบุญ เป็นความดีงาม ที่จะทำให้ชีวิตเราสูงส่งขึ้น อย่างนี้จึงจะถูกหลักวิชชา ถ้าใช้ไปแล้ว ทำให้ชีวิตเราตกต่ำ อย่าไปทำดีกว่า 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2548

ความสม่ำเสมอสำคัญมาก

ทุกวันให้มีชั่วโมงหยุดชั่วโมงนิ่งให้มากๆ และสม่ำเสมอ อานิสงส์ของการทำสม่ำเสมอ จะทำให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้า พอนึกรวมใจ ใจก็วูบขยายเข้าไปสู่ภายในทันที แต่ถ้าเราทำไม่สม่ำเสมอ เวลาจะให้หยุดนิ่ง ใจมักจะแวบไปแวบมา พอแวบไปแวบมา เดี๋ยวเราก็อดไปเค้นภาพไม่ได้ พอเค้นภาพมันก็ตึงเครียด ทำให้เบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติธรรม เพราะว่าทำผิดวิธีการ และไม่ทำอย่างสม่ำเสมอ นี่คือโทษของการไม่ทำอย่างสม่ำเสมอ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2544

ตรึกบ่อยๆ 

ถ้าหากเราตรึก เรานึกเรื่อยๆ  ผูกสมัครรักใคร่ในวิชชาธรรมกาย เห็นพระในตัวบ่อยๆ หนักๆ เข้า เดี๋ยวจะคล่องเอง ถ้าเราตรึกตลอดเวลา เวลาเรานั่งจะง่าย แล้วทำต่อไปได้อย่างสบายๆ จะดูว่า เรารักที่จะศึกษาวิชชาธรรมกายจริงแค่ไหน ให้เราดูว่า เวลาอยู่นอกห้อง เราเอาใจจรดกลางไว้ตลอดเวลาหรือเปล่า

ตรึกคืออะไร แตะคืออะไร

“ตรึก” คือ การนึกถึงดวงใสๆ องค์พระใสๆ อย่างสบายๆ คล้ายๆ กับเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย ถนัดนึกถึงองค์พระ ก็นึกองค์พระ ถนัดนึกดวงแก้ว ก็นึกถึงดวงแก้ว หรือสิ่งที่นอกเหนือจากนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยเห็นจนเจนตา นึกถึงสิ่งนั้น เอาไว้ที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ 7 อย่างสบายๆ เพื่อให้ใจของเรามีหลักยึด จะได้ไม่ซัดส่ายไปคิดเรื่องอื่น “แตะ” คือ ดูเฉยๆ ดูธรรมดาๆ เหมือนดูก้อนอิฐก้อนหิน แต่ว่ามันเบามาก โดยที่เราไม่ได้พยายามที่จะให้มันเบา มันเบาของมันเอง เพราะจิตมันละเอียดไปในระดับนั้นแล้ว ก็ดูต่อไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ ดูเข้าไปตรงกลางสิ่งที่เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นดวงใสๆ องค์พระใสๆ ดูเข้าไปเรื่อยๆ 23 กันยายน พ.ศ.2545

หยุดเป็นตัวสำเร็จ

จำไว้ว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” ตรงนี้สำคัญ อะไรจะเกิดขึ้น เราก็เฉยๆ สิ่งนั้นจะมา สิ่งนั้นจะอยู่ สิ่งนั้นจะไป ก็ช่างมัน นิ่งเฉยๆ ฝึกหยุดฝึกนิ่ง เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้วในตัวของเรา จะเป็นแสงสว่าง ความสุข ความรู้แจ้ง ดวงธรรมใสๆ องค์พระภายใน หรือกายต่างๆ ทั้งหมดมีอยู่ในตัวของเรา ไม่ต้องไปหามาเลย แค่หยุดกับนิ่งอย่างเดียวเท่านั้น เดี๋ยวก็เข้าถึงเอง แต่ต้องฝึกฝนไปเรื่อยๆ ซึ่งเราจะต้องใช้ตั้งแต่บัดนี้จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิต 24 ธันวาคม พ.ศ.2549

การนึกภาพ 

นึกถึงวัตถุหรือภาพที่ทำให้ใจเราสูงขึ้น ประณีตขึ้น จะนึกเป็นภาพดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ดวงแก้ว องค์พระ หรือภาพมหาปูชะนียาจารย์ก็ได้ หรือจะนึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย เห็นจนเจนตา ของรักของชอบก็ได้ทั้งนั้น แต่ต้องเป็นภาพที่นำมาซึ่งความบริสุทธิ์ของใจ ทำใจให้ประณีต ไม่ใช่ภาพที่นำมาซึ่งความกำหนัดยินดีในกาม ความขัดเคืองใจ ที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อความหลง แล้วก็วางใจให้เป็น คือ วางอย่างสบายๆ ทำใจให้หยุดนิ่งอย่างเดียว จะภาวนา “สัมมา อะระหัง” ควบคู่ไปด้วยก็ได้ หรือจะไม่ภาวนาก็ไม่เป็นไร รักษาใจให้ใสๆ บริสุทธิ์เยือกเย็นเข้าไว้ เดี๋ยวเราก็จะสมหวังดังใจ

มีอะไรให้ดูก็ดูไป

เมื่อเราวางใจได้ถูกส่วน ถูกวิธี ภาพจะเกิดขึ้น ถ้าใจยังไม่นิ่ง มันจะแวบไปแวบมา เราก็ทำเฉยๆ เอาไว้ เล่นตัวเอาไว้ นิ่งเอาไว้ ทำใจใสๆ ทำเป็นไม่สน ทั้งๆที่สนมาก อยากจะเห็นใจจะขาด ก็ต้องทำเป็นไม่สน มีอะไรให้ดู ก็ดูอย่างนั้นไปก่อน ถ้ายังไม่ใช่ดวงแก้ว องค์พระ เราก็ดูต่อไป ดูไปโดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องไปปรุงแต่ง ไม่ต้องไปกำกับ ไม่ต้องไปขับไล่ ทำเฉยๆ เหมือนรู้แล้วไม่ชี้ มีอะไรให้ดูเราก็ดูไปด้วยใจที่เป็นปกติ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2545

ความพอดี

การปฏิบัติธรรม คือ การแสวงหาความพอดี ความพอดี คือ นั่งแล้วสบายใจ ความพอดีสังเกตจากความพอใจ พอใจ คือ วางใจอย่างนี้แล้วรู้สึกสบาย ปรับร่างกายให้พอดี วางใจให้ถูกส่วน ปรับใจให้พอดีโดยอาศัยร่างกายจิตใจของเราเป็นครูถ้าเราหาความพอดีกับของหยาบได้ ละเอียดก็พอดีได้ ถูกส่วน คือ ไม่หนักเกินไป ไม่เบาเกินไป ไม่คิดเรื่องอะไร พอใจหยุดถูกส่วนจะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน อาการถูกส่วนสังเกตได้จากความพอดี เราจะเกิดความพึงพอใจในตัวเอง มีนาคม พ.ศ.2535

ไม่ต้องแสวงหา

สบายตรงไหน เอาตรงนั้น ไม่ต้องแสวงหา และไม่ต้องเสียดายว่า เราสูญเสียอารมณ์ดี ๆ อย่างนั้นไป อารมณ์ดี มีเยอะ มีเหลือเฟือ ทำเฉย ๆ ดูเฉย ๆ เดี๋ยวจะมาอีก แล้วจะดีกว่าเดิม สบายตรงไหนเอาตรงนั้นไปก่อน หากเรารู้สึกมันเคว้งคว้าง หาจุดไม่เจอ ไม่ต้องแสวงหาจุด ชอบตรงไหน เอาตรงนั้น ไม่มีอะไรใหม่ให้ดู ก็ช่างมัน อย่างนี้เดี๋ยวได้ ไม่ยาก 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2550

เริ่มต้นในจุดที่สบาย

หลักสำคัญ คือ ต้องฝึกใจให้หยุดนิ่งอย่างสบายๆ โดยจะเริ่มต้นจากภาพ หรือว่างๆ ไม่มีภาพก็ได้ เอาใจหยุดนิ่ง ๆ ตรงฐานที่ 7 เลยก็ได้ ฐานที่ 6 ก็ได้ ฐานที่ 5, 4, 3, 2, 1 หรือข้างนอกก็ยังได้ เริ่มต้นตรงไหนก็ได้ที่เรามีความรู้สึกว่า สบาย ถ้ารู้สึกว่า ใจเราอยู่ตรงนั้นแล้วสบาย เราก็เริ่มต้นตรงนั้นไปก่อน