Category ปฏิบัติธรรมตามหลักวิชชา

“สัมมาอะระหัง” กลั่นใจได้

ให้มีคำภาวนา สัมมาอะระหัง ในใจ ควบคู่กันไปกับภารกิจ ภาวนาไปเรื่อย ๆ ในทุกอิริยาบถ ทุกกิจกรรม ภาวนาอย่างเป็นสุขใจ สบายใจเพราะเรากำลังทำความดี การภาวนา สัมมาอะระหัง สามารถทำได้ตลอดเวลา แม้ยามโกรธ เราก็ภาวนา สัมมาอะระหัง ในใจได้ ความโกรธนั้นก็จะมลายหายไป ความทุกข์อะไรเกิดขึ้น เราก็ภาวนาได้ ความทุกข์นั้นก็จะหายไป แม้มีความสุขเกิดขึ้นมา เราภาวนา ก็จะเพิ่มเติมความสุขให้มากขึ้น จะเห็นได้ว่า การภาวนา สัมมาอะระหัง ไม่ได้ขัดกับการทำมาหากินเลย เหมือนเราขับรถไปด้วย คุยไปด้วย ใช้ทั้งมือ ทั้งขา ทั้งตา ทั้งหู ทั้งปากพูดไปด้วย เรายังทำได้ การภาวนาก็เช่นเดียวกัน เป็นงานทางใจ เพราะฉะนั้น จะทำมาหากินหรือจะทำอะไร…

ภารกิจกับจิตใจไปด้วยกัน

ต้องบริหารเวลาให้เป็น จัดสรรเวลาของเราให้ลงตัว ให้มีเวลาว่างสำหรับแสวงหา หนทางพระนิพพานของตนเองให้ได้ อย่างน้อยวันละชั่วโมง หรือสองชั่วโมงก็ยังดี ส่วนเวลาอื่นที่เรามีภารกิจประจำวันที่ต้องทำ ก็พยายามฝึกฝนทำควบคู่กับภารกิจนั้นไป เพราะภารกิจกับจิตใจต้องไปด้วยกัน ใครทำสองอย่างนี้ไปพร้อม ๆ กันได้ ถึงจะเรียกว่า บริหารเวลาเป็น มีความตั้งใจที่จะทำความปรารถนาของเราให้สมหวัง ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต ภารกิจกับจิตใจควรจะไปด้วยกัน ไม่ควรเป็นสิ่งที่แย้งกัน หรือเป็นข้ออ้างว่า เราต้องทำธุรกิจการงาน จะต้องเรียนหนังสือ เลยทำให้ไม่มีเวลา หรือบางคนอ้างว่า สุขภาพไม่แข็งแรง ยังเจ็บป่วยไข้ คอยให้หายป่วยแล้วค่อยแสวงหาหนทางพระนิพพานทำอย่างนี้ไม่ถูกนะ เพราะเรามีเวลาของชีวิตที่จำกัดเหลือเกิน และความตายก็ไม่มีนิมิตหมาย ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๓

ฝึกใจให้คิดแต่เรื่องดี ๆ กันดีกว่า

ต้องฝึกใจให้คิดแต่เรื่องบุญกุศล สิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่ควรคิด คิดแล้วใจเป็นบุญกุศล ถ้าใจคิดเรื่องไม่ดี แล้วเรามีสติยั้งคิดได้ ก็นิ่งเสีย ให้ใช้สติพิจารณาว่า เราคิดไม่ดีในเรื่องอะไรบ้าง แล้วใช้ปัญญาสอนตัวเองว่า จะไม่คิดอย่างนี้อีก ตอนแรก ๆ ทั้ง ๆ ที่รู้ แต่ใจก็ยังเศร้าหมองตาม เหมือนขับรถ เมื่อเบรกแล้วจะยังไม่หยุดทันที ความเฉื่อยยังมีอยู่ ใจก็เช่นกัน ยังมีความเฉื่อยหลงค้างอยู่ในใจ ทำให้ใจเศร้าหมอง “รู้ทันเสียเพียงครึ่ง รู้ไม่ถึงเสียทั้งหมด”ตอนแรก ๆ ก็ต้องฝึก ซึ่งอาจจะมีใจไปตามมันบ้าง แต่ต่อไปจะสามารถตัดใจไม่คิดได้เลยทั้งหมด พอรู้ว่าสิ่งนี้ไม่ดี ก็ไม่คิด ตัดฉับได้ทันที ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓

ยกใจให้สูง

ยกใจของเราให้สูง ยิ่งยกใจให้สูงมากเท่าไร ก็จะยิ่งมองเห็นอะไรได้กว้างขวางขึ้น ความรู้สึกแบ่งเขา แบ่งเรา ก็จะหมดสิ้นไป เพราะใจไม่ค่อยสูง ถึงได้แบ่งเป็นนั่นพวกเรา…นั่นไม่ใช่พวกเรา ก็เลยทำให้เกิด… ความคิด เบียดเบียนกัน คำพูด เบียดเบียนกันการกระทำ เบียดเบียนกัน รบราฆ่าฟันกัน เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่จะต้องยกใจให้สูงขึ้น ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗

ความแข็งแรงมีไว้สร้างความดี 

ยังแข็งแรงอยู่ ต้องรีบขวนขวายลุยนั่งธรรมะกันให้เต็มที่ อย่าเอาความแข็งแรงไปทำอย่างอื่น ที่ไม่เป็นบุญกุศล เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าเอาความแข็งแรงไปทำบาป ก็จะมีวิบากตามมาอีก เสียดายความแข็งแรง สิ่งสำคัญในการปฏิบัติธรรม คือ ความแข็งแรงและความปลอดกังวล ทั้งสองอย่างเป็นหัวใจสำคัญ ไม่เช่นนั้นพญามารเอาไปทำอย่างอื่นจนหมดแรง จิตเดิมแท้ของเราจะใสสะอาด แต่พญามารเอากิเลสเข้ามาสอดบังคับให้เราไปสร้างกรรมอีก ดังนั้นในช่วงที่ยังแข็งแรงอยู่ ต้องตั้งใจนั่งธรรมะ และสร้างบุญกันให้เต็มที่

อย่าประมาทในชีวิต

เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้อีกไม่นาน เดี๋ยววัน เดี๋ยวคืน เดี๋ยวก็จะหมดเวลาแล้ว เราแก่ลงไปทุก ๆ วันจริง ๆ แม้ใครจะมาชื่นชมเราว่า ดูแล้วยังไม่แก่ ไม่จริงหรอก จริง ๆ แล้วเรานอนกับคนแก่ทุกวันอยู่บนเตียงของเรา คือ นอนกับตัวของเราเอง ที่แก่ลงไปทุกวัน สภาพร่างกายที่เสื่อมลงไปเรื่อย ๆ ทุกวัน แล้วไม่ช้าเราก็จะไปสู่เชิงตะกอน เพราะฉะนั้น เวลาที่เหลืออยู่ มีไม่มากเลย อย่าคิดว่า เรามีเวลาเหลือเฟือ เราจะนั่งธรรมะเมื่อไรก็ได้ เพราะเราได้ทราบสูตรสำเร็จในการเข้าถึงธรรมกายแล้วว่า ให้หยุด ให้นิ่ง ให้เฉยอย่างสบาย ๆ เราจะทำเมื่อไรก็ได้ คิดอย่างนี้เรียกว่า ยังประมาทอยู่ ! เราจะต้องคิดว่า เราจะตายวินาทีนี้ ก่อนตาย…เราจะเอาอะไรเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่ระลึก…

จิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้

ใจต้องฝึกฝน และทำให้เจริญให้มาก ๆ ฝึกมากแล้วจะทำประโยชน์ให้ตนเองได้เป็นอย่างยิ่ง จะเปลี่ยนจากปุถุชนให้เป็นอารยชนได้ ยกตัวอย่าง คนเหมือนกัน คนหนึ่งไม่โกรธ ใจดี มีเมตตาย่อมเป็นที่อยากเข้าใกล้ของคนทั่วไป และถ้าใจรักษาคุณธรรมนี้ไว้มาก ๆ อาจทำให้น่ากราบไหว้ เป็นที่เคารพบูชา เพียงไม่โกรธอย่างเดียวยังได้คุณวิเศษถึงเพียงนี้ ถ้าไม่โลภด้วยจะยิ่งดีมากกว่านี้หลายเท่า สมดังภาษิตที่ว่า ความสุขความเจริญทั้งมวล ย่อมเกิดขึ้นจากใจก่อนทั้งสิ้น เมื่อเปลี่ยนแปลงใจให้ดีแล้ว สิ่งดี ๆ หลายอย่าง เช่น ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติลาภ ยศ สิ่งดี ๆ ทั้งหลาย ย่อมเป็นผลพลอยได้ตามมาด้วย ฉะนั้น ใจเป็นต้นเหตุของความสุขความเจริญทั้งมวล ในชีวิตนี้ควรฝึกฝนใจ และให้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต เพราะนอกจากเป็นแหล่งที่มาของบุญแล้ว ยังนำมงคลทั้งหลายมาสู่ตนด้วย ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๕

ความสุขแท้จริง..อยู่ในตัว 

ใจของเราเตลิดเปิดเปิง จากฐานที่ ๗ มายาวนานแล้ว ที่เราเคยได้ยินคำว่า “ใจแตก” มันแตกจากตรงนี้แหละ ใจแตกไปติดในเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่เราเติบโตเจริญวัยเรื่อยมากระทั่งถึงวันนี้ เราจึงไม่เคยพบความสุขที่แท้จริงสักที เพราะความสุขมีที่เดียว อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ ดังนั้น เราจึงต้องนำใจกลับมาสู่ที่ตั้งดั้งเดิม เป็นตำแหน่งที่ถูกต้องและดีงาม ที่จะทำให้เรามีความสุขมาก ๆ และสมหวังในชีวิต ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร? 

เราปฏิบัติธรรมเพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์แห่งชีวิต ไม่ใช่เพื่ออยากเด่นอยากดัง หรือต้องการให้ใครมายกย่องสรรเสริญ หรือปรารถนาลาภสักการะ แต่เรามุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อทำความบริสุทธิ์ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จิตยิ่งสะอาด ยิ่งบริสุทธิ์ ก็ยิ่งมีความสุขมาก มีปัญญาบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นรู้เห็นอะไรไปตามความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้เราดำเนินชีวิตได้ถูกต้องสมบูรณ์ มีความสุขตลอดเส้นทางในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ แม้จะอยู่บนเตียงผู้ป่วย ก็ป่วยแต่เพียงร่างกายเท่านั้น แต่จิตใจองอาจ สูงส่ง มีความสุข อยู่ในบุญกุศล อยู่ในธรรม อยู่ในพระรัตนตรัยภายในที่สุกใส สว่าง จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิตก็ยังมีความสุข เมื่อละโลกไปแล้วก็ยิ่งมีความสุขในสัมปรายภพ ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ เข้าไปเป็นสหายแห่งเทวดาทั้งปวง ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

แก่นสารของชีวิตอยู่ที่ไหน? 

อะไรคือแก่นสารของชีวิต ความจริงในโลกนี้ ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ เรื่องธุรกิจการงาน บ้านช่อง เรื่องอะไรก็ไม่เป็นแก่นสารของชีวิตทั้งนั้น สิ่งที่สำคัญ คือ การฝึกจิตให้หยุดนิ่ง ให้บริสุทธิ์ ให้เข้าถึงธรรมภายใน ดูชีวิตของชาวโลกทั่วไป ตายแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้ นอกจากบุญและบาปเท่านั้น ทั้งโลกก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น แก่นสารของชีวิตอยู่ที่ใจหยุด ใจนิ่ง ใจที่ดิ่งเข้าไปสู่ภายใน ไปพบสรณะภายใน ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙