ผลงานหลวงพ่อธัมมชโย

โครงการด้านการศึกษา

3.1 โครงการค้นคว้าทางวิชาการ

1) โครงการรวบรวมและศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกโบราณ

วัดพระธรรมกายให้การสนับสนุนการค้นคว้าทางวิชาการแก่โครงการต่างๆหลายโครงการโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเกี่ยวกับพระไตรปิฎกโดยจัดตั้งโครงการรวบรวมและศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกโบราณขึ้นในปีพ.ศ. 2553 เพื่ออนุรักษ์และศึกษาคัมภีร์ใบลานโดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญการอ่านและวิเคราะห์ภาษาบาลีจากหลายประเทศทำหน้าที่คัดเลือกคัมภีร์ใบลานที่เก่าแก่จากแต่ละสายจารีตได้แก่คัมภีร์ใบลานอักษรขอมคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมคัมภีร์ใบลานอักษรพม่าและคัมภีร์ใบลานอักษรสิงหลแล้วนำเนื้อหาของคัมภีร์ใบลานเหล่านี้มาศึกษาเปรียบเทียบเพื่ออนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
  • – สิงหาคม พ.ศ. 2553 ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบัน Sri Lanka International Buddhist Academy (SIBA) เพื่อแปลพระไตรปิฎกบาลีเป็นภาษาอังกฤษและภาษาสิงหล
  • – มิถุนายน พ.ศ. 2554 จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพระไตรปิฎกบาลี ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ครั้งที่ 1 เพื่อสรุปแนวทางการจัดทำฐานข้อมูลและศึกษาเปรียบเทียบคัมภีร์ใบลานบาลีในแต่ละสายจารีต, ครั้งที่ 2 จัดประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เพื่อรายงานความคืบหน้าการทำงานด้านวิชาการและสรุปแนวทางการจัดทำฐานข้อมูลและศึกษาเปรียบเทียบคัมภีร์ใบลานบาลี ในแต่ละสายจารีต 
  • – กันยายน พ.ศ. 2554 ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งสหภาพเมียนมา 3 แห่ง ได้แก่ State Pariyatti Sasana University of Yangon, State Pariyatti Sasana University of Mandalay, และ International Theravada Buddhist Missionary University
  • – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 จัดพิธีถวายพระไตรปิฎกฉบับสาธิต เล่มแรก คือ “สีลขันธวรรค” แห่งทีฆนิกายในพระสุตตันตปิฎก ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี
  • – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 จัดสัมมนาวิชาการพระไตรปิฎกบาลี “การสืบทอดพุทธธรรม : จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน” มีนักวิชาการบาลีชั้นนำของโลกมาเป็นวิทยากร ได้แก่ ศาสตราจารย์ Richard Gombrich จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด, ศาสตราจารย์ Oskar von Hinüüber ผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีและคัมภีร์ใบลาน, ศาสตราจารย์ Rupert Gethin ประธานสมาคมบาลีปกรณ์แห่งประเทศอังกฤษ และศาสตราจารย์ Masahiro Shimoda จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี
  • – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยสงฆ์ Tango แห่งภูฏาน
  • – เมษายน พ.ศ. 2556 ถึงปัจจุบัน โครงการจัดนิทรรศการ “เล่าเรื่องใบลาน สืบสานพุทธธรรม” ทุกวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล เสา N 24 โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีประสบการณ์ในการลงพื้นที่อนุรักษ์คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ ตั้งแต่การสำรวจค้นหาคัมภีร์อายุเก่าแก่ การลงทะเบียนมัดคัมภีร์ การทำความสะอาดใบลานแต่ละแผ่น การลงดำเพื่อให้เส้นอักษรจารคมชัด การถ่ายภาพใบลานด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย ตลอดจนถึงการมัดห่อคัมภีร์เพื่อยืดอายุคัมภีร์ เป็นต้น
  •  กรกฎาคม พ.ศ. 2558 โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Intensive Workshop on Textual Criticism of Pali Canon ณ ศูนย์บริการข้อมูลวิจัยพระไตรปิฎก โดยมีนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมสัมมนา อาทิ Prof. Oskar von Hinüüber ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นปรมาจารย์ด้านภาษาบาลีและคัมภีร์ใบลานระดับแนวหน้าของวงการวิชาการ เข้าร่วมงานและให้คำแนะนำเชิงลึกที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่ายิ่งต่อการดำเนินงานโครงการ
  • – กันยายน พ.ศ. 2558 ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับสมาคมนักเรียนเก่ากัมพูชาในประเทศไทย (AFCT) ณ กรุงพนมเปญ
  • – ตุลาคม พ.ศ. 2558 โครงการบรรยายเรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์เรื่องอายุและปัจจัยที่ทำให้อายุสั้นและอายุยืนในแนวพระพุทธศาสนา” โดยนางสาวรัชนี พรสี่ นักวิชาการไทยประจำโครงการรวบรวมและศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกโบราณ เป็นตัวแทนไปนำเสนอผลงาน (An Analytical Study of Āyu and Factors Leading to Its Degeneration and Regeneration in Buddhism) ในงาน Canadian International Conference on Global Studies ณ มหาวิทยาลัย Ryerson เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ซึ่งจัดโดย Unique Conference Canada
  • – มกราคม พ.ศ. 2559 โครงการบรรยายเรื่อง “การสืบทอดอักษรธรรมจากอาณาจักรล้านนา” โดยนางสาวรัชนี พรสี่ นักวิชาการไทยประจำโครงการรวบรวมและศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกโบราณ ได้เป็นตัวแทนไปนำเสนอผลงานในหัวข้อ “การสืบทอดอักษรธรรมจากอาณาจักรล้านนา” ในงานสัมมนาด้านภาษาและวรรณกรรม ณ โรงแรมบางกอกโฮเทลโลตัส สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร โดยงานสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือของศูนย์การวิจัยและพัฒนางานวิจัยนานาชาติ (International Center for Research & Development : (ICRD) ประเทศศรีลังกา, ภาควิชาการศึกษาการสื่อสาร วิทยาลัยไอทากา (Department of Communication Studies, Ithaca College) ประเทศสหรัฐอเมริกา, มหาวิทยาลัยจากาดคุรุ กรีปาลู (Jagadguru Kripalu University) ประเทศอินเดีย และ Unique Conference Canada
  • – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ลงนามในข้อตกลงร่วมกันเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์รักษาคัมภีร์ใบลานรวมถึงส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าและการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับหอสมุดแห่งชาติลาว
  • – กรกฎาคม พ.ศ. 2559 โครงการบรรยายเรื่อง “เอกสารโบราณในโลกยุคปัจจุบัน งานด้านการอนุรักษ์และความท้าทายในเชิงเทคนิค” (Old Manuscripts in the Modern World) ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) โดย ดร.บรรเจิด ชวลิตเรืองฤทธิ์ ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อเรื่อง “คัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกในประเทศศรีลังกาและประเทศเมียนมา” และ ดร.สุชาดา ศรีเศรษฐวรกุล บรรยายในหัวข้อเรื่อง “คัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกอักษรขอมในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา” ในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “เอกสารโบราณในโลกยุคปัจจุบัน งานด้านการอนุรักษ์ และความท้าทายในเชิงเทคนิค” จัดโดยสมาคมอนุรักษ์เอกสารโบราณ, มหาวิทยาลัยศิลปากร, ศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์, มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • – สิงหาคม พ.ศ. 2559 โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการภายใต้หัวข้อ Workshop on Pali Textual Criticism “Critical Edition of Pali Canon” ในหัวข้อ “Critical Edition of Pali Canon” โดยศาสตราจารย์ Oskar von Hinüüber ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลีและปรากฤต และ Dr. Alexander Wynne เข้าร่วมสัมมนา ณ ศูนย์บริการข้อมูลวิจัยพระไตรปิฎก
  • – กันยายน พ.ศ. 2559 โครงการบรรยายเรื่อง “A Problem on the Origin of the Pali Canon of Khom Script Manuscripts Found in Thailand and Cambodia” โดย ดร.สุชาดา ศรีเศรษฐวรกุล ณ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในงานสัมมนาวิชาการทางพระพุทธศาสนาประจำปีที่ใหญ่และเก่าแก่สุดในประเทศญี่ปุ่น จัดโดย JAIBS หรือสมาคมอินเดียและพุทธศาสตร์ศึกษาแห่งญี่ปุ่นซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ต่อมาในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ได้เดินทางไปนำเสนอผลงานวิชาการเกี่ยวกับคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานในส่วนของงานวิจัยด้านคัมภีร์และพุทธศาสตร์ศึกษา ณ มหาวิทยาลัยภาษานานาชาติปักกิ่ง ประเทศจีน ในงานสัมมนา Texts-Vision-Method : Asian and African Studies in the Era of Globalization โดยความร่วมมือของ Beijing Foreign Studies University และ SOAS, University of London
  • – ตุลาคม พ.ศ. 2559 นำเสนอผลงานวิชาการเกี่ยวกับคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานในส่วนของงานวิจัยทางด้านคัมภีร์และพุทธศาสตร์-ศึกษา ณ มหาวิทยาลัยภาษานานาชาติปักกิ่ง เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ในงานสัมมนา Texts-Vision-Method : Asian and African Studies in the Era of Globalization โดยความร่วมมือของ Beijing Foreign StudiesUniversity และ SOAS แห่ง University of London
  • – มกราคม พ.ศ. 2560 นำเสนอผลงานการศึกษาและวิเคราะห์คัมภีร์พระไตรปิฎก รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการทำงานกับคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกหลากสายจารีต ในงานสัมมนา The First International Seminar on Buddhist Manuscripts and Traditions ณ DCI Center for Buddhist Studies (DCIBS) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • – มกราคม พ.ศ. 2560 โครงการบรรยายเรื่อง “การสืบทอดวรรณกรรมบาลีจากประเทศสยามไปสู่ประเทศลังกา เพื่อฟื้นฟูภาวะวิกฤตทางพระพุทธศาสนาในศตวรรษที่ 18”  โดยนางสาวรัชนี พรสี่ ในงานประชุมสัมมนานานาชาติด้านภาษา, วรรณกรรมและสังคม ครั้งที่ 4 (Fourth International Conference on Languages, Literature and Society) จัดที่ Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์ โดยความร่วมมือของ Ithaca College นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา, ศูนย์วิจัยและการพัฒนานานาชาติ ประเทศศรีลังกา และ Jagadguru Kripalu University ประเทศอินเดีย
  • – สิงหาคม พ.ศ. 2560 โครงการมอบไฟล์ภาพคัมภีร์ใบลานและอุปกรณ์แก่ห้องสมุดวิจัยแห่งเมียนมา ณ เมืองย่างกุ้ง  โดยพระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ ผู้อำนวยการโครงการรวบรวมและศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกโบราณ ได้ส่งมอบไฟล์ภาพและอุปกรณ์ อาทิ กล้อง คอมพิวเตอร์ ไฟ และแท่นวางใบลานให้แก่ท่านผู้อำนวยการห้องสมุดวิจัยแห่งเมียนมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในปี พ.ศ. 2553 ระหว่างโครงการรวบรวมและศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกโบราณและมหาวิทยาลัย State Pariyatti Sasana University แห่งย่างกุ้ง ในการถ่ายภาพคัมภีร์ใบลานเก็บเป็นไฟล์ภาพดิจิทัลและอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานร่วมกัน

2) โครงการวิจัยสืบค้นหลักฐาน “ธรรมกาย” ในคัมภีร์พุทธโบราณ

สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (Dhammachai International Research Institute ; DIRI) คือ สถาบันวิจัยวิชาการด้านพุทธศาสตร์เพื่อผลิตบุคลากรให้มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านการวิจัยเรื่อง “ธรรมกาย” รวมถึงพัฒนาความรู้ความสามารถของนักวิชาการและผู้ที่สนใจด้านพุทธศาสตร์ โดยร่วมมือกับคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก และเพื่อเป็นทนายแก้ต่างแก่พระพุทธศาสนาในคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เกี่ยวกับ “ธรรมกาย” โดยรักษาและสืบทอดการปฏิบัติสมาธิที่พระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ตั้งสัตยาธิษฐานปฏิบัติสมาธิจนบรรลุธรรมกายในวันเพ็ญเดือน 10 พุทธศักราช 2460 ณ วัดโบสถ์บน บางคูเวียง จังหวัดนนทบุรี 

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย
  • 1. เพื่อเป็นสถาบันบ่มเพาะบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องธรรมกาย
  • 2. เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติ
  • 3. เพื่อเป็นที่รวบรวมหลักฐาน เอกสารโบราณ ที่เกี่ยวกับคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะเกี่ยวกับหลักฐานธรรมกาย
  • 4. เพื่อเป็นศูนย์กลางของการศึกษาค้นคว้าวิชาการพระพุทธศาสนา 
  • 5. เพื่อสืบทอดคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
  • 6. เพื่อเป็นสถาบันที่สร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจที่ดีแก่นักวิชาการทั่วโลก

สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยดำเนินงานด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัยหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ ภายใต้การนำของหลวงพ่อธัมมชโย ผู้สถาปนาสถาบันฯ ที่มีวิสัยทัศน์และมโนปณิธานในการธำรงไว้ซึ่งคำสอนดั้งเดิมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันเป็นแก่นแท้ในพระพุทธศาสนา โดยทีมงานคณะวิจัยสถาบัน ฯ ได้เรียบเรียงโอวาทของท่านไว้ดังนี้
“สิ่งหนึ่งที่เป็นความหวังของหลวงพ่อมาหลายสิบปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันค้นคว้า สิ่งนั้นคือ คำว่า “ธรรมกาย” ที่ยังมีปรากฏอยู่ตามคัมภีร์พุทธโบราณ และจารึกเก็บไว้ในภาษาต่าง ๆ ซึ่งกระจัดกระจายกันไปทั่วโลกในหลายประเทศ ทั้งประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาและประเทศที่ไม่ได้นับถือ เพราะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคำว่าธรรมกายนั้นเป็นคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ดังนั้นหลวงพ่อจึงอยากให้ผู้ที่จบเปรียญธรรม 9 ประโยค หรือนักวิชาการผู้ใฝ่การศึกษา ควรที่จะช่วยกันสืบค้นอย่างจริงจังในภาคภาษาบาลีหรือภาษาโบราณอื่น ๆ
“เนื่องจากยังมีนักวิชาการที่ไม่เข้าใจเรื่องธรรมกาย เพราะยังไม่ได้เห็นหลักฐานในคัมภีร์พุทธโบราณ แต่ถ้าพวกเราช่วยกันสืบค้นจนได้หลักฐานธรรมกายมาอ้างอิงรองรับเกี่ยวกับคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยแล้ว เราก็จะได้เอาหลักฐานเหล่านั้นไปแสดง ไปเปิดเผยให้นักวิชาการทั้งหลายในโลกนี้ได้รู้ ได้เห็น ได้รับทราบ สิ่งที่เราค้นคว้าออกมา ซึ่งมีหลักฐานเอกสารอ้างอิงชัดเจน ทำความจริงให้ปรากฏโดยปราศจากอคติ ตรงจุดนี้แหละจะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ
“เมื่อเราได้นำเอกสารหลักฐานอ้างอิงเกี่ยวกับเรื่องธรรมกายนี้ไปให้นักวิชาการและชาวโลกได้รับทราบ ก็จะเป็นโอกาสดีที่ชาวโลกพร้อมที่จะศึกษาคำสอนเกี่ยวกับเรื่องวิชชาธรรมกาย ซึ่งเป็นสาระสำคัญของชีวิตมนุษย์ เพราะหลวงพ่อก็เชื่อเหมือนเดิมว่า สันติภาพของโลกนั้นเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน จากการที่ทุกคนได้เข้าถึงสันติสุขภายในที่รวมประชุมอยู่ในธรรมกายกลางกายของมนุษย์ทุกคน ซึ่งความเชื่ออย่างนี้ไม่เคยหลุดจากใจเลย และก็เชื่อว่าในยุคสมัยเรานี้แหละที่จะทำสิ่งนี้ให้ปรากฏเกิดขึ้น เพราะภารกิจที่มาเกิดก็เพื่อการนี้ และเพื่อที่จะบอกกับชาวโลกให้รู้ว่า ในตัวเขามีสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เขาแสวงหาอยู่นั้นคือธรรมกาย แต่ถ้าหากเราไม่ทำสิ่งนี้ ก็ได้ชื่อว่าเราไม่ได้ทำหน้าที่ และไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการมาเกิดในชาตินี้”
จากถ้อยคำโอวาทขององค์สถาปนาสถาบันฯ ทำให้ทีมงานผู้บริหาร นักวิจัย ผู้ช่วยนักวิจัย
ของสถาบันฯ ได้ตระหนักและตั้งใจทุ่มเททำงานจนเกิดผลจากการสำรวจในภาคสนามถึง 22 ประเทศ อีกทั้งได้สร้างความสัมพันธ์กับนักวิชาการด้านพุทธศาสนาและได้ลงนามสัญญาร่วมมือทางวิชาการกับองค์กร จำนวน 13 องค์กร / 10 ประเทศ ได้ความรู้และพบหลักฐานโดยเฉพาะร่องรอยเกี่ยวกับธรรมกาย ถึง 11 ประเทศ (แต่ก็ทราบว่ายังมีแหล่งข้อมูลชั้นปฐมภูมิอยู่อีกหลายประเทศที่คณะของเรายังต้องศึกษาเพิ่มเติม)
ในปีมหามงคลครบ 100 ปี วิชชาธรรมกาย (นับจากปี 2460) คณะนักวิจัยสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) พร้อมด้วยกรรมการที่ปรึกษาและอุปถัมภ์ คณาจารย์ และผู้สนับสนุนประจำในทุกด้าน จึงพร้อมใจกันที่จะสถาปนาอาคาร “สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI)” ณ เมืองดันนีดิน ประเทศนิวซีแลนด์ให้สำเร็จ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูบูชาธรรมแด่มหาปูชนียาจารย์ที่พวกเราเคารพบูชาอย่างยิ่ง และเพื่อตอบสนองนโยบาย ความตั้งใจ และวัตถุประสงค์หลักที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
สรุปการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ของ DIRI กับองค์กรต่างๆ
  • 1. มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย 
  • 2. มหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ 
  • 3. มหาวิทยาลัยเคลานิยา ประเทศศรีลังกา
  • 4. มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา 
  • 5. มหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ 
  • 6. มหาวิทยาลัยโคตมบุดดา ประเทศอินเดีย
  • 7. สถาบันจิตวิทยาและสมาธิ ประเทศอิตาลี
  • 8. ศูนย์พุทธศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ
  • 9. มหาวิทยาลัยมุมไบ ประเทศอินเดีย
  • 10. วัดต้าฝอ เมืองกว่างโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
  • 11. มหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
  • 12. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตวิทยาลัยสงฆ์นครน่านฯ
  • 13. มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
  ผลงานวิจัยของสถาบัน DIRI 
  • • ร่องรอยธรรมกายในคัมภีร์ภาษาคานธารีและภาษาสันสกฤต 
  • • คัมภีร์ภาษาสันสกฤตและปรากฤตจากแหล่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ 
  • • สมาธิภาวนาและธรรมกายในคัมภีร์ภาษาจีน 
  • • ร่องรอยธรรมกายในคัมภีร์อักษรขอมไทย 
  • • สมาธิภาวนาและธรรมกายในคัมภีร์อักษรธรรม 
  • • ร่องรอยธรรมกายในคัมภีร์ใบลานภาษาเขมร 
  • • หลักฐานธรรมกายในคันธาระและเอเชียกลาง (Traces of Dhammakaya Meditation in Gandāhra and Central Asia) 
  • • ธรรมกายในคัมภีร์มหาปรินิรวาณสูตร คัมภีร์ต้นฉบับพระพุทธศาสนายุคต้น (The Concept of Dharmakāya in the Early Buddhist Manuscripts, the Mahāparinirvặna Sūtra) 
  • ª • รายงานการค้นพบคำว่าธรรมกายในคัมภีร์สันสกฤต (Report on Findings of the Term ‘DHARMAKĀYA’ in Buddhist Sanskrit Literatures) 
  • • สมาธิกับศูนย์กลางกายในพระพุทธศาสนาจีน ยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและฉินราชวงศ์หลัง (Chinese Buddhist Meditation in Eastern Han and Later Chin Period : The Centre of the Body) 
  • • สมาธิภาวนาในคัมภีร์อักษรธรรม (Meditation in Tham Scripts Manuscripts) 
  • • ธรรมกายในคัมภีร์พระธัมมกายาทิ (ฉบับเทพชุมนุม)
  • • ร่องรอยธรรมกายในคัมภีร์ใบลานภาษาเขมร (Traces of Dhammakaya Meditation in Khmer Manuscripts) 
  • • หลักฐานวิชชาธรรมกายในคัมภีร์จตุรารักขา
  • • ร่องรอยธรรมกายในนครวัด 
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของงานวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย ซึ่งสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.diri.ac.nz จะเห็นได้ว่าการพัฒนาและความสำเร็จใด ๆ ของสถาบันฯ ในวันนี้ นับว่าเป็นดอกผลของมหาปูชนียาจารย์ในวิชชาธรรมกายทั้งสิ้น และผลงานวิจัยเกี่ยวกับคำว่าธรรมกายนี้ ย่อมจะส่งผลอันไพบูลย์ต่อพระพุทธศาสนาและสันติสุขภายในของมวลมนุษยชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างแน่นอน

3.2 โครงการส่งเสริมกิจกรรมเยาวชน

ในปัจจุบันศีลธรรมในหมู่เยาวชนเสื่อมถอยลงไปมากทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมายการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องปลูกฝังศีลธรรมลงในใจของเยาวชนเพื่อให้พวกเขามีหลักในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องต่อไปด้วยเหตุนี้ชมรมพุทธศาสตร์สากลฯจึงจัดทำโครงการขึ้นหลากหลายโครงการเพื่อสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้คู่คุณธรรมซึ่งนอกจากเป็นการช่วยลดปัญหาครอบครัวและสังคมแล้วยังช่วยสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพพร้อมที่จะพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองสืบไปอีกด้วย

1) โครงการตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” 

เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เยาวชนได้ศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนา โดยศึกษาธรรมะในหัวข้อ “มงคลชีวิต 38 ประการ” ซึ่งจะทำให้เยาวชนมีหลักในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องต่อไป
โครงการตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” จัดขึ้นทุกปี ครั้งแรกจัดเมื่อ พ.ศ. 2525 มีผู้เข้าสอบ 191 ทีม รวม 382 คน ครั้งล่าสุดจัดเมื่อ พ.ศ. 2560 มีเยาวชนเข้าสอบเฉลี่ย 5-6 ล้านคนต่อปี

2) โครงการเด็กดี V-Star ผู้นำฟื้นฟูศีลธรรมโลก 

เป็นโครงการสร้างผู้นำเยาวชนต้นแบบด้านศีลธรรม โดยผ่านบทฝึกในกิจวัตรประจำวัน อย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย ควบคู่กับการทำกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม และการเรียนรู้เรื่องพระรัตนตรัย ทั้งนี้เพื่อปลูกฝังศีลธรรมแก่เยาวชนต้นแบบ แล้วขยายผลไปสู่เพื่อนเยาวชนและคนรอบข้างในสังคมต่อไป
โครงการนี้จัดขึ้น 12 ครั้งแล้ว ครั้งที่ 1 จัดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ครั้งที่ 12 จัดระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 ภายใต้ชื่อโครงการ V-Star Quality Award 

3) โครงการกฐินสัมฤทธิ์

ปัจจุบัน ชาวพุทธเข้าวัดน้อยลง ทำให้วัดที่เคยรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีตหลายวัดกลายเป็นวัดร้าง หรือบางวัดก็มีกฐินตกค้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่ออนาคตของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง หลวงพ่อธัมมชโยจึงดำริให้เด็กดี V-Star รับภารกิจสำคัญในการ
ปกป้องทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชุมชนไปทอดกฐินสัมฤทธิ์ในวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศที่ไม่มีใครจองกฐิน เพื่อไม่ให้มีกฐินตกค้างอีกต่อไป
โครงการ “กฐินสัมฤทธิ์” เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา และจัดต่อเนื่องทุกปี นับจาก
ปี พ.ศ. 2551-2560 มีโรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรม 3,809 โรงเรียน และวัดที่จัดทอดกฐิน 4,609 วัด (ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขการทอดกฐินสัมฤทธิ์ในแต่ละปีที่นำมารวมกัน)