jaisabay

jaisabay

คลาย …เดี๋ยวก็หาย

การฟุ้งซ่าน ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่สมหวัง เราจะต้องอนุญาตให้ตัวเรา ปล่อยความคิดที่สะสมไว้ในใจให้ผ่านไปบ้าง อย่าไปต้าน อย่าไปรำคาญ และอย่าไปกังวล ให้มันคลาย เดี๋ยวก็หาย เหมือนน้ำกำลังเชี่ยว อย่าเอาเรือไปขวาง เดี๋ยวจะตึงเครียด 31 มีนาคม พ.ศ. 2535

ต้องสบาย… 

การจะเข้าถึงพระธรรมกายได้ ต้อง “หยุด” อย่างเดียว การฝึกให้หยุดใช้หลัก คือ ต้องสบาย ฝึกใจให้สบาย ๆ ให้บริสุทธิ์ ผ่องใส ถ้าใจทิ้งทุกสิ่ง ก็จะหยุดนิ่งอยู่ตรงกลาง กลับเข้าสู่ที่ตั้งดั้งเดิมของใจ คือฐานที่ 7  ถ้าเมื่อไร นำใจเข้าสู่ที่ตั้งดั้งเดิมได้ จะเข้าถึงพระธรรมกาย 10 มกราคม พ.ศ. 2542

เมื่อใจหยุดนิ่ง… จะทิ้งคำภาวนา

เวลาใจหยุดนิ่ง จะทิ้งคำภาวนาไป  คล้าย ๆ กับเราลืมภาวนา แต่ว่าใจไม่ฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น อยากอยู่เฉย ๆ นิ่ง ๆ กลางดวงใส ๆ กลางท้อง ที่เหนือสะดือขึ้นมา 2 นิ้วมือ  ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ ก็ไม่ต้องย้อนกลับมาภาวนาใหม่ ให้รักษาใจที่หยุดนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม อย่างสบาย ๆ ให้ต่อเนื่องกันไป 22 เมษายน พ.ศ. 2545

บริกรรมภาวนา

เวลาประกอบบริกรรมภาวนา สัมมาอรหัง ไม่ใช่ท่องแบบนกแก้วนกขุนทอง การท่อง คือ การใช้กำลัง อย่างนี้ไม่ถูกวิธี เราจะนึกถึงคำภาวนาอย่างเบา ๆ ละเอียดอ่อน คือ นึกนิดเดียว อย่างสบาย ๆ คล้าย ๆ เสียงเพลง หรือเสียงสวดมนต์ที่เราคุ้นเคย ดังออกมาจากในใจของเรา โดยที่เราไม่ได้นึกถึงเลย 1 มกราคม พ.ศ. 2545

ทำใจหลวม ๆ 

จะมืดหรือสว่าง ไม่ต้องไปกังวล ทำใจหลวม ๆ เหมือนสวมเสื้อที่ไม่คับ สวมใส่แล้วสบาย เราก็ต้องทำใจหลวม ๆ นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม ให้ใจใส เยือกเย็น บริสุทธิ์ ผ่องใส ทำอย่างนี้ แค่นี้เท่านั้น เดี๋ยวใจจะปรับปรุงให้ถูกส่วน ไปสู่จุดแห่งความพอดีเอง 22 เมษายน พ.ศ. 2545

ดอกเตอร์ทางธรรม

การดูไปเรื่อย ๆ คือ การทำใจให้หยุดนั่นเอง  ถ้าเห็นดวงได้ชัดเจน ทำใจให้หยุดนิ่งกลางดวงได้ เดี๋ยวเราจะเข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกภายใน จะได้ปริญญาทางธรรม จบดอกเตอร์ทางธรรม  ต่างจากดอกเตอร์ทางโลก ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานหลายปี ต้องดูหนังสือ ต้องอ่าน ต้องเขียน ต้องทำวิจัย ต้องคิด ต้องพูด สารพัดอย่าง แต่นี่ไม่ต้องทำอะไร แค่ทำเฉย ๆ หยุดนิ่งให้ถูกวิธี 26 มกราคม พ.ศ. 2545

พ่อครัวชั้นดี

วางใจให้นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม ให้ได้ต่อเนื่องกันไป ทำอย่างนี้ แค่นี้เท่านั้น อย่าทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ แล้วใจของเราก็จะถูกปรับปรุง ปรับใจ ปรุงใจของเราให้ถูกส่วนเอง ใจก็จะค่อย ๆ ละเอียดลงไป ๆ เหมือนพ่อครัวชั้นดีที่มีฝีมือปรุงอาหารให้มีโอชารส เราก็ต้องทำประดุจพ่อครัวชั้นดีอย่างนั้น ปรุงใจของเราด้วยวิธีการดังกล่าว คือ หยุดนิ่งเฉย ๆ นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม อย่างสบาย ๆ 22 เมษายน พ.ศ. 2545

อารมณ์สบาย

ไม่ต้องไปควานหาความสบาย ขนาดไหนถึงจะสบาย อย่างนี้สบายไหม ไม่ต้องไปควานหา แค่ทำใจนิ่ง ๆ เฉย ๆ เดี๋ยวความสบาย ความสว่าง ดวงธรรม กายภายใน องค์พระธรรมกายจะมาเอง แค่หยุดกับนิ่งเฉย ๆ จะเป็นตัวสำเร็จ เป็นทางด่วนพิเศษ ที่ทำให้เราเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว เพราะฉะนั้น อย่ามัวควานหาความสบายว่า แค่ไหนถึงจะสบาย ไม่ต้องหา แค่นั่งนิ่ง ๆ เฉย ๆ เดี๋ยวก็มาเองนะลูกนะ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2545

ตัวสบาย ใจสงบ

เวลาที่เรานั่งธรรมะ  ให้นั่งทำตัวสบาย ๆ ทำใจให้สงบ ให้หยุด ให้นิ่ง แล้วก็ให้นึกถึงศูนย์กลางกายเป็นชีวิตจิตใจตลอดเวลาเลย อะไรในโลกนี้ ไม่สำคัญเท่าศูนย์กลางกาย นึกเบา ๆ สบาย ๆ  แค่ไหนสบาย ให้ดูตัวเราเป็นเกณฑ์ ดูตอนที่เราพอใจอารมณ์ไหน อยากจะอยู่กับอารมณ์นี้นาน ๆ ตรงนั้นแหละ อารมณ์สบาย แล้วจะไม่รู้สึกตึงเลย  แต่ถ้าร่างกายประท้วงบอกว่า นี่ตึงไป แสดงว่า ผิดวิธี 13 เมษายน พ.ศ. 2535

ไม่ยินดียินร้าย

เส้นทางสายกลาง ใจต้องเป็นกลาง ๆ  ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้น  ยินดีก็ไม่ได้… ยินร้ายก็ไม่ได้… นิ่งเฉย ๆ ให้ใจเป็นกลาง ๆ  ทำเหมือนไม่ได้ทำ  ทำอย่างนี้ แล้วธรรมะจะก้าวหน้า 27 มีนาคม พ.ศ. 2539