jaisabay

jaisabay

การนึกภาพ 

นึกถึงวัตถุหรือภาพที่ทำให้ใจเราสูงขึ้น ประณีตขึ้น จะนึกเป็นภาพดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ดวงแก้ว องค์พระ หรือภาพมหาปูชะนียาจารย์ก็ได้ หรือจะนึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย เห็นจนเจนตา ของรักของชอบก็ได้ทั้งนั้น แต่ต้องเป็นภาพที่นำมาซึ่งความบริสุทธิ์ของใจ ทำใจให้ประณีต ไม่ใช่ภาพที่นำมาซึ่งความกำหนัดยินดีในกาม ความขัดเคืองใจ ที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อความหลง แล้วก็วางใจให้เป็น คือ วางอย่างสบายๆ ทำใจให้หยุดนิ่งอย่างเดียว จะภาวนา “สัมมา อะระหัง” ควบคู่ไปด้วยก็ได้ หรือจะไม่ภาวนาก็ไม่เป็นไร รักษาใจให้ใสๆ บริสุทธิ์เยือกเย็นเข้าไว้ เดี๋ยวเราก็จะสมหวังดังใจ

มีอะไรให้ดูก็ดูไป

เมื่อเราวางใจได้ถูกส่วน ถูกวิธี ภาพจะเกิดขึ้น ถ้าใจยังไม่นิ่ง มันจะแวบไปแวบมา เราก็ทำเฉยๆ เอาไว้ เล่นตัวเอาไว้ นิ่งเอาไว้ ทำใจใสๆ ทำเป็นไม่สน ทั้งๆที่สนมาก อยากจะเห็นใจจะขาด ก็ต้องทำเป็นไม่สน มีอะไรให้ดู ก็ดูอย่างนั้นไปก่อน ถ้ายังไม่ใช่ดวงแก้ว องค์พระ เราก็ดูต่อไป ดูไปโดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องไปปรุงแต่ง ไม่ต้องไปกำกับ ไม่ต้องไปขับไล่ ทำเฉยๆ เหมือนรู้แล้วไม่ชี้ มีอะไรให้ดูเราก็ดูไปด้วยใจที่เป็นปกติ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2545

ความพอดี

การปฏิบัติธรรม คือ การแสวงหาความพอดี ความพอดี คือ นั่งแล้วสบายใจ ความพอดีสังเกตจากความพอใจ พอใจ คือ วางใจอย่างนี้แล้วรู้สึกสบาย ปรับร่างกายให้พอดี วางใจให้ถูกส่วน ปรับใจให้พอดีโดยอาศัยร่างกายจิตใจของเราเป็นครูถ้าเราหาความพอดีกับของหยาบได้ ละเอียดก็พอดีได้ ถูกส่วน คือ ไม่หนักเกินไป ไม่เบาเกินไป ไม่คิดเรื่องอะไร พอใจหยุดถูกส่วนจะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน อาการถูกส่วนสังเกตได้จากความพอดี เราจะเกิดความพึงพอใจในตัวเอง มีนาคม พ.ศ.2535

ไม่ต้องแสวงหา

สบายตรงไหน เอาตรงนั้น ไม่ต้องแสวงหา และไม่ต้องเสียดายว่า เราสูญเสียอารมณ์ดี ๆ อย่างนั้นไป อารมณ์ดี มีเยอะ มีเหลือเฟือ ทำเฉย ๆ ดูเฉย ๆ เดี๋ยวจะมาอีก แล้วจะดีกว่าเดิม สบายตรงไหนเอาตรงนั้นไปก่อน หากเรารู้สึกมันเคว้งคว้าง หาจุดไม่เจอ ไม่ต้องแสวงหาจุด ชอบตรงไหน เอาตรงนั้น ไม่มีอะไรใหม่ให้ดู ก็ช่างมัน อย่างนี้เดี๋ยวได้ ไม่ยาก 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2550

เริ่มต้นในจุดที่สบาย

หลักสำคัญ คือ ต้องฝึกใจให้หยุดนิ่งอย่างสบายๆ โดยจะเริ่มต้นจากภาพ หรือว่างๆ ไม่มีภาพก็ได้ เอาใจหยุดนิ่ง ๆ ตรงฐานที่ 7 เลยก็ได้ ฐานที่ 6 ก็ได้ ฐานที่ 5, 4, 3, 2, 1 หรือข้างนอกก็ยังได้ เริ่มต้นตรงไหนก็ได้ที่เรามีความรู้สึกว่า สบาย ถ้ารู้สึกว่า ใจเราอยู่ตรงนั้นแล้วสบาย เราก็เริ่มต้นตรงนั้นไปก่อน

การเจริญพุทธานุสติ

การเจริญพุทธานุสติ คือ นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ โดยนึกถึงพระแก้วขาวใสบริสุทธิ์ เป็นสิ่งแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำใจให้ใส เยือกเย็น หยุดนิ่งให้ถูกส่วน ประสานใจของเรากับพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ให้ในใจเรามีแต่พระพุทธเจ้าตลอดเวลา แล้วไม่นานสิ่งอัศจรรย์ก็จะเกิดขึ้นกับตัวของเรา 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2540

อานิสงส์การเจริญพุทธานุสติ

การเจริญพุทธานุสติ คือ การระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ มีอานิสงส์ใหญ่ จะปิดประตูอบายภูมิ ทำให้ไม่ต้องไปเกิดในนรก ไม่ต้องไปเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน แม้ในปัจจุบัน ถ้าเข้าถึงได้ หรือเพียงแต่นึกได้ตลอดเวลา ก็จะทำให้เรามีความสุข สดชื่น เบิกบานทันทีที่ระลึกถึง เมื่อระลึกจนเป็นชีวิตจิตใจ ทุกลมหายใจเข้าออก จนกระทั่งท่านมาปรากฏอยู่ในกลางใจเรา เห็นองค์พระชัดใสแจ่มตลอดเวลาแล้ว ย่อมมีอานุภาพยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณ ใจเราจะผ่องใสเกลี้ยงเกลาตลอดเวลา กระแสกรรมที่ทำมาในอดีตแม้ยังไม่หมดก็ตามไม่ทัน เหมือนเราขี่จรวดหรือนั่งเครื่องบิน แต่กรรมนั้นขี่จักรยานหรือเดินด้วยเท้า เพราะเมื่อจิตผ่องใสไม่เศร้าหมอง ก็มีสุคติเป็นที่ไป หลังจากละโลกไปแล้ว เราจะไปเป็นสหายแห่งเทวดาเป็นเวลายาวนาน จะมีกายใหม่เป็นกายทิพย์ที่สง่างาม มีรัศมีสว่างไสว มีสมบัติอันเป็นทิพย์ มีวิมานและบริวารเกิดขึ้นมากมาย กระแสบุญแห่งการระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะส่งต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆเหมือนระลอกคลื่นที่ส่งต่อกันไปลูกแล้วลูกเล่า และเมื่อถึงคราวที่ต้องมาเกิดในโลกมนุษย์ ก็จะเกิดในตระกูลที่ดี มีโภคทรัพย์สมบัติเพียบพร้อม รอคอยให้เราได้ใช้สร้างบารมี และนำเราไปถึงกระแสธรรมได้ในที่สุด 2…

สิ่งที่เป็นสาระ กับสิ่งที่ไม่เป็นสาระ

มนุษย์ส่วนใหญ่มักจะแสวงหาสิ่งที่ไร้สาระ ซึ่งไม่สามารถนำติดตัวไปเป็นประโยชน์ในภพเบื้องหน้า แต่สิ่งที่เป็นสาระของชีวิต  ที่นำติดตัวไปได้กลับไม่ให้ความสำคัญ ทั้งนี้เนื่องจากความรู้ยังไม่สมบูรณ์ แม้บางคนรู้แต่ก็ไม่ได้ลงมือทำอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้น  ผู้มีปัญญาจะต้องให้ความสำคัญ กับการปฏิบัติธรรมให้มากๆ เพราะสิ่งนี้คือสาระที่แท้จริงของชีวิต ที่จะทำให้ได้เข้าถึงสิ่งที่มีอยู่จริงภายใน การปฏิบัติธรรม คือ  กรณียกิจที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่จะทำให้ได้บรรลุเป้าหมายของชีวิต เป็นงานที่ทำให้เราได้รู้จักตัวเองและแผนผังชีวิตของเรา ดังนั้น  การปฏิบัติธรรมเราควรทำทุกวัน  อย่าให้ขาด และทำควบคู่กันไปกับการทำมาหากินหรือในภารกิจต่างๆ ให้ภารกิจกับจิตใจไปด้วยกัน  เศรษฐกิจต้องคู่ไปกับจิตใจ เราแสวงหาทรัพย์มาเพื่อเอาไว้หล่อเลี้ยงสังขาร และนำมาสร้างบารมี เราจะต้องรู้จักหลักของชีวิตและทำความเข้าใจว่า อะไรคือภารกิจหลัก  อะไรคือภารกิจรอง ภารกิจหลักคือการปฏิบัติธรรม  นอกนั้นคือภารกิจรอง เพราะฉะนั้น  เราจะต้องให้ความสำคัญกับภารกิจหลักให้มากๆ เพราะสิ่งนี้คือกรณียกิจที่เป็นเป้าหมายชีวิตของเรา 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2544

เรื่องธรรมดา

เราเป็นคนธรรมดา ต้องทำแบบคนธรรมดา ต้องยอมรับว่า ความมืด ความเมื่อย ความฟุ้ง เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนจะต้องเจอ ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกเฉพาะเราอยู่คนเดียว ทุกคนต้องเจอทั้งนั้น เพราะฉะนั้น อย่าไปวิตกกังวลทุกข์ร้อน 22 เมษายน พ.ศ. 2545

ทำใจให้ผ่องใส

ทำใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ อย่าให้ใจเศร้าหมอง สิ่งใดที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา ต้องกลั่นกรอง ให้เหลือแต่สิ่งดี ๆ ที่จะอยู่ในใจอันสุกใสสว่างไสวของเรา เพราะไม่มีวันใดวันหนึ่ง เราก็ต้องไปสู่ปรโลก วันนั้น… เราจะต้องไปด้วยใจที่สว่างสุกใส ไม่มีมลทินเลย 1 กันยายน พ.ศ. 2545)