jaisabay

jaisabay

สุขทุกขั้นตอน

ตลอดเส้นทางสายกลางที่จะไปสู่ที่สุดแห่งธรรม เป็นเส้นทางแห่งความสุขตลอดเส้นทาง ไม่มีเส้นทางไหนที่จะให้ความสุขเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เท่ากับเส้นทางสายกลางนี้ ความสุขจะบังเกิดขึ้นทุกขั้นตอนของการเข้าถึง ตั้งแต่สุขน้อยๆ เพิ่มขึ้นไปเป็นสุขปานกลาง จนกระทั่งถึงสุขอย่างยิ่ง 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2544

มรรคผลนิพพาน

มรรคผลนิพพานไม่ใช่เรื่องพ้นสมัย แต่อยู่ในสมัยตลอด เพราะเป็นอกาลิโก คือ ไม่จำกัดกาลเวลา เพราะทีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน หยุดนิ่งเมื่อไรก็เข้าถึงเมื่อนั้น ถ้าไม่หยุดนิ่งก็เข้าไม่ถึง 29 มกราคม พ.ศ. 2549

มรรคผลนิพพานอยู่ในตัว

มรรคผลนิพพานนั้นอยู่ในตัวของเรา และของมนุษย์ทุกคนในโลก พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ที่ท่านบรรลุมรรคผลนิพพาน หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ไปสู่อายตนนิพพานได้ ก็เพราะบรรลุมรรคผลนิพพานในตัวท่าน โดยเมื่อท่านปล่อยวางในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ท่านก็นำใจกลับเข้ามาสู่ภายในกายของท่าน เมื่อใจปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าว ใจก็จะกลับมาสู่ที่ตั้งดั้งเดิม คือ ที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ 7 ซึ่งเป็นต้นทางที่จะนำไปสู่พระนิพพาน 20 เมษายน พ.ศ. 2551

สุขใจเพราะมีธรรม

ไม่ว่าวันอะไรก็สุขใจเพราะมีธรรม (ไม่ใช่มีเธอ) ธรรมะมีอยู่แล้วในตัวของทุกคน แต่การเข้าถึงธรรมภายในต้องทำให้เป็น ด้วยวิธีที่ง่าย ตรง ลัด ประหยัดสุด ประโยชน์สูง คือ ทำใจให้หยุดนิ่ง เพราะ “ หยุดเป็นตัวสำเร็จ “ หยุดตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ คือ  ทำใจให้หยุดนิ่งอย่างเบาๆ สบายๆ ทำอย่างง่ายๆ  ทำเพลินๆ ทุกคนมีธรรมะอยู่ภายในตัวอยู่แล้ว ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข แต่ถ้ายังเข้าไม่ถึง  สิ่งนี้แม้นมีอยู่ก็เหมือนไม่มี ถ้าเราไปแสวงหาความสุขที่นอกเหนือจากนี้ ก็จะไม่มีวันพบ  เพราะภายนอกไม่มีความสุขที่แท้จริง มัวไปหาในสิ่งที่ไม่มี  มันก็ไม่เจอ เพราะความสุขอยู่ภายในตัว 27 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ถามหาความสุข 

ประโยชน์อย่างน้อยที่สุดของการฝึกใจหยุดนิ่ง คือ  ทำให้เราได้เข้าถึงความสุขในปัจจุบันทันใด ซึ่งจะเป็นความสุขที่แท้จริง  ที่ไม่มีในที่ไหน นอกจากทำใจให้หยุดนิ่งเท่านั้น 29 มกราคม พ.ศ. 2549

สำรวมอินทรีย์ 

เรามีดวงตา เรามีอวัยวะทุกอย่างในร่างกาย ไว้สำหรับสร้างบารมี เมื่อใช้อะไรไปแล้ว ต้องเปลี่ยนกลับมาเป็นบุญ เป็นความดีงาม ที่จะทำให้ชีวิตเราสูงส่งขึ้น อย่างนี้จึงจะถูกหลักวิชชา ถ้าใช้ไปแล้ว ทำให้ชีวิตเราตกต่ำ อย่าไปทำดีกว่า 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2548

ความสม่ำเสมอสำคัญมาก

ทุกวันให้มีชั่วโมงหยุดชั่วโมงนิ่งให้มากๆ และสม่ำเสมอ อานิสงส์ของการทำสม่ำเสมอ จะทำให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้า พอนึกรวมใจ ใจก็วูบขยายเข้าไปสู่ภายในทันที แต่ถ้าเราทำไม่สม่ำเสมอ เวลาจะให้หยุดนิ่ง ใจมักจะแวบไปแวบมา พอแวบไปแวบมา เดี๋ยวเราก็อดไปเค้นภาพไม่ได้ พอเค้นภาพมันก็ตึงเครียด ทำให้เบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติธรรม เพราะว่าทำผิดวิธีการ และไม่ทำอย่างสม่ำเสมอ นี่คือโทษของการไม่ทำอย่างสม่ำเสมอ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2544

ตรึกบ่อยๆ 

ถ้าหากเราตรึก เรานึกเรื่อยๆ  ผูกสมัครรักใคร่ในวิชชาธรรมกาย เห็นพระในตัวบ่อยๆ หนักๆ เข้า เดี๋ยวจะคล่องเอง ถ้าเราตรึกตลอดเวลา เวลาเรานั่งจะง่าย แล้วทำต่อไปได้อย่างสบายๆ จะดูว่า เรารักที่จะศึกษาวิชชาธรรมกายจริงแค่ไหน ให้เราดูว่า เวลาอยู่นอกห้อง เราเอาใจจรดกลางไว้ตลอดเวลาหรือเปล่า

ตรึกคืออะไร แตะคืออะไร

“ตรึก” คือ การนึกถึงดวงใสๆ องค์พระใสๆ อย่างสบายๆ คล้ายๆ กับเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย ถนัดนึกถึงองค์พระ ก็นึกองค์พระ ถนัดนึกดวงแก้ว ก็นึกถึงดวงแก้ว หรือสิ่งที่นอกเหนือจากนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยเห็นจนเจนตา นึกถึงสิ่งนั้น เอาไว้ที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ 7 อย่างสบายๆ เพื่อให้ใจของเรามีหลักยึด จะได้ไม่ซัดส่ายไปคิดเรื่องอื่น “แตะ” คือ ดูเฉยๆ ดูธรรมดาๆ เหมือนดูก้อนอิฐก้อนหิน แต่ว่ามันเบามาก โดยที่เราไม่ได้พยายามที่จะให้มันเบา มันเบาของมันเอง เพราะจิตมันละเอียดไปในระดับนั้นแล้ว ก็ดูต่อไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ ดูเข้าไปตรงกลางสิ่งที่เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นดวงใสๆ องค์พระใสๆ ดูเข้าไปเรื่อยๆ 23 กันยายน พ.ศ.2545

หยุดเป็นตัวสำเร็จ

จำไว้ว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” ตรงนี้สำคัญ อะไรจะเกิดขึ้น เราก็เฉยๆ สิ่งนั้นจะมา สิ่งนั้นจะอยู่ สิ่งนั้นจะไป ก็ช่างมัน นิ่งเฉยๆ ฝึกหยุดฝึกนิ่ง เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้วในตัวของเรา จะเป็นแสงสว่าง ความสุข ความรู้แจ้ง ดวงธรรมใสๆ องค์พระภายใน หรือกายต่างๆ ทั้งหมดมีอยู่ในตัวของเรา ไม่ต้องไปหามาเลย แค่หยุดกับนิ่งอย่างเดียวเท่านั้น เดี๋ยวก็เข้าถึงเอง แต่ต้องฝึกฝนไปเรื่อยๆ ซึ่งเราจะต้องใช้ตั้งแต่บัดนี้จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิต 24 ธันวาคม พ.ศ.2549